วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ธนาคารขยะ

ธนาคารขยะรีไซเคิล คือ รูปแบบหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริม การคัดแยกขยะมูลฝอย โดยเริ่มต้นที่เยาวชนและชุมชนเป็นหลัก และใช้โรงเรียนหรือหมู่บ้าน บริษัท โรงงาน เป็นสถานที่ดำเนินการ เพื่อให้เยาวชนและชุมชน เกิดความเข้าใจในการคัดแยกขยะมูลฝอย หลักการของธนาคารขยะรีไซเคิล คือให้นักเรียนหรือพนักงานสมัครเป็นสมาชิกของธนาคารขยะฯ และนำขยะมาฝากที่ธนาคาร โดยมีเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ทำการคัดแยกและชั่งน้ำหนักขยะ
และคำนวนเป็นเงิน แล้วบันทึกลงสมุดคู่ฝาก โดยใช้ราคาที่ทางโรงเรียนหรือคณะกรรมการชุมชน ประสานกับร้านรับซื้อของเก่า เป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคา รายได้ของกิจกรรมมาจากผลต่าง ของราคาที่คณะทำงานของโรงเรียนกำหนด กับราคาที่สามารถขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งต้องมีการหักรายจ่ายอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ ติดต่อ ประสานงาน ซึ่งรายได้สามารถใช้เป็นทุนหมุนเวียน และจัดตั้งเป็นกองทุน เพื่อใช้เป็นทุนการศึกษาหรือรายได้ชุมชน


วัตถุประสงค์
- เพื่อให้เยาวชนมีจิตสำนึกในการคัดแยกขยะ และรักษาสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนและชุมชน
- เป็นการช่วยลดปริมาณขยะ และส่งเสริมความรู้ให้แก่เยาวชนในเรื่องการคัดแยกขยะ ที่ถูกต้องและเหมาะสม
- เพื่อนำผลพลอยได้จากการตั้งธนาคารขยะ มาตั้งกองทุนสนับสนุนการศึกษาของเยาวชน
- เพื่อเป็นการสร้างรูปแบบการจัดการขยะ โดยเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการดำเนินงาน

อุปกรณ์
- เครื่องชั่ง
- สถานที่เก็บรวบรวมวัสดุรีไซเคิล
- สมุดคู่ฝากและเอกสารบัญชี

เราจะทำการแยกขยะอย่างง่าย

“การรีไซเคิลพลาสติก”
ในการรีไซเคิลพลาสติกนั้น พลาสติกจะถูกแบ่งออกเป็น 7 ชนิดด้วยกัน สามารถสังเกตได้จากสัญลักษณ์ตัวเลขที่อยู่ด้านข้างหรือก้นภาชนะพลาสติก ดังนี้ครับ
พลาสติกเบอร์ 1 หรือที่เรียกว่าขวดเพท (PET) ตัวอย่างเช่น ขวดน้ำอัดลม และขวดน้ำมันพืช
พลาสติกเบอร์ 2 โพลีเอทธีลีนชนิดความหนาแน่นสูง ตัวอย่างเช่น ขวดน้ำขุ่น ขวดโลชั่น และขวดแชมพู
พลาสติกเบอร์ 3 PVC ตัวอย่างเช่น ท่อพีวีซี สายยาง และสายไฟ
พลาสติกเบอร์ 4 โพลีเอทธีลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ ตัวอย่างเช่น ถุงเย็น แผ่นฟิล์มพลาสติก และขวดชนิดบาง
พลาสติกเบอร์ 5 โพลีโพรไพลีน ตัวอย่างเช่น ถุงร้อน เชือกพลาสติก ถังน้ำ และหลอดกาแฟ
พลาสติกเบอร์ 6 โพลีสไตรีน ตัวอย่างเช่น โฟม กล่องซีดี ไม้บรรทัด และถ้วยไอศกรีม
พลาสติกเบอร์ 7 ชนิดอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ขวดนมเด็ก ขวดน้ำเกลือ และด้ามจับกระทะ เป็นต้น
พลาสติกที่ได้รับความนิยมในการคัดแยกเพื่อการรีไซเคิล มักเป็นพลาสติกที่มีปริมาณการใช้สูง สามารถหาได้ง่าย สะดวกในการเก็บรวบรวม คัดแยก ทำความสะอาด เช่น ขวดน้ำดื่มชนิดขาวขุ่นและชนิดใส และขวดยาสระผมครับ

“การรีไซเคิลกระดาษ”
ในการรีไซเคิลกระดาษนั้น สามารถทำได้สูงสุด 4-6 ครั้งเท่านั้น เมื่อผ่านกระบวนการรีไซเคิล เยื่อกระดาษจะสั้นลงเรื่อย ๆ ดังนั้นในการผลิตกระดาษทางโรงงานรีไซเคิลต้องเติมเยื่อใหม่ลงไปด้วย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดาษรีไซเคิลที่ผลิตออกมา ในการรับซื้อกระดาษของร้านรับซื้อเพื่อนำไปรีไซเคิลนั้น จะแบ่งกระดาษออกเป็นประเภท ๆ ได้แก่ กระดาษปอนด์ขาว-ดำ กระดาษแข็งสีน้ำตาล กระดาษหนังสือเล่ม กระดาษสมุด กระดาษหนังสือพิมพ์และกระดาษคอมพิวเตอร์ กระดาษแต่ละประเภทจะมีราคาซื้อ-ขายไม่เท่ากัน ขึ้นกับชนิดและคุณภาพ กระดาษคอมพิวเตอร์ กระดาษขาวดำและกระดาษสมุด จะมีราคาแพง รองลงมา ได้แก่ กระดาษกล่องสีน้ำตาล กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษบางประเภทร้านรับซื้อของเก่าจะไม่รับซื้อ เช่น กระดาษที่เคลือบด้วยพลาสติก กระดาษห่อของขวัญ กระดาษเคลือบไข เป็นต้น ว่ากันว่าการผลิตกระดาษ 1 ตันต้องตัดต้นไม้ถึง 17 ต้น และใช้พลังงานในการผลิตถึง 4,100 กิโลวัตต์ ซึ่งพอเพียงต่อการใช้กระแสไฟฟ้าในบ้านขนาดกลางถึง 6 เดือนเลยที่เดียวครับ

“การรีไซเคิลโลหะ”

โฆษกชาย : ในการคัดแยกโลหะเก่าเพื่อรีไซเคิลนั้น แยกออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ เหล็กและโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก ซึ่งซาเล้งหรือร้านรับซื้อของเก่า จะใช้แม่เหล็กในการคัดแยก ในการคัดแยกเหล็กเพื่อขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า สามารถแยกเป็น เหล็กเหนียว เหล็กหล่อ เหล็กรูปพรรณ และเศษเหล็กอื่น ๆ เหล็กที่ขายได้ราคาดี ได้แก่ เหล็กหล่อที่มีขนาดเล็กและหนาราคากิโลกกรัมละ 9 บาท 60 สตางค์ รองลงมา ได้แก่ เหล็กเส้นราคากิโลกกรัมละ 9 บาท สำหรับโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก เช่น อะลูมิเนียม ทองแดงและทองเหลือง ถือว่าเป็นโลหะที่มีค่า ทองแดง จัดเป็นโลหะที่มีราคาสูงที่สุดโดยทองแดงเส้นราคากิโลกกรัมละ 200 บาทขึ้นไป รองลงมาคือทองเหลือง ราคากิโลกกรัมละ 100 – 120 บาท ส่วนอะลูมิเนียมมีราคาตั้งแต่ 10 กว่าบาทจนถึง 80 บาท อะลูมิเนียมที่มีราคาสูงที่สุด คือ อะลูมิเนียมเส้น ราคากิโลกกรัมละ 78 บาท รองลงมาอะลูมิเนียมฉากขอบใหม่ราคากิโลกกรัมละ 66 บาท ส่วนกระป๋องน้ำอัดลมราคากิโลกกรัมละ 50 บาทครับ

“การรีไซเคิลแก้ว”

โฆษกชาย : บรรจุภัณฑ์ที่เป็นขวดหรือโหลแก้ว สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% โดยคุณสมบัติไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าขวดหรือโหลแก้วนั้นจะถูกรีไซเคิลมากี่ครั้งแล้วก็ตาม การรีไซเคิลแก้ว ใช้เชื้อเพลิงในการหลอมแก้วน้อยกว่าการผลิตแก้วจากวัตถุดิบโดยตรง การรีไซเคิลขวดแก้ว 1 ใบสามารถประหยัดพลังงานเพียงพอที่จะให้ความสว่างกับหลอดไฟขนาด 100 วัตต์ได้ถึง 4 ชั่วโมง หรือประหยัดไฟฟ้าเท่ากับการชมโทรทัศน์ 1 ชั่วโมงครึ่งเลยทีเดียว ผลิตภัณฑ์แก้วบางชนิดไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เนื่องจากมีการเติมสารบางอย่างลงไปในกระบวนการผลิตเพื่อวัตถุประสงค์บางประการ เช่น แก้วเจียรนัย จะมีสารจำพวกตะกั่วออกไซด์ปนอยู่ ซึ่งจะทำให้การหักเหของแสงในแก้วชนิดนี้ มีมากกว่าแก้วชนิดอื่น แก้วจึงมีความแวววาวสวยงาม นอกจากนี้หลอดไฟและกระจกเงา ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เนื่องจากมีสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น สารฟลูออเรสเซ้นท์ และปรอทเคลือบอยู่ ในการรีไซเคิลแก้วนั้น ต้องแยกแก้วสีชา และแก้วสีเขียวออกจากแก้วใสครับ

วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553