วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

10 บัญญัติ ประหยัดน้ำมัน


           ท่านทราบหรือไม่ว่าการขับรถอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ท่านประหยัดและลดภาระค่าใช้ จ่ายในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ยังจะเป็นการรักษารถยนต์ให้มีอายุการใช้งานที่คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ด้วย สำหรับวิธีการใช้รถให้ประหยัดน้ำมัน มีดังนี้
ขับรถไม่เกิน 90 กม./ชม.           ความเร็วสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้
                • ทางธรรมดา 90 กม./ชม.
                • ทางด่วน 110 กม./ชม.
                • มอเตอร์เวย์ 120 กม./ชม.

จอดรถไว้หน้าบ้าน โดยสารรถสาธารณะ           ถ้าผู้ใช้รถยนต์ร้อยละ 1 จากจำนวน 5 ล้านคัน หันมาใช้บริการรถสาธารณะ ด้วยระยะทาง 48 กม./วัน ใน 1 ปี (260 วันทำงาน) จะประหยัดน้ำมัน 52 ล้านลิตร คิดเป็นค่าน้ำมัน 780 ล้านบาท

ไม่ขับก็ดับเครื่อง           การติดเครื่องยนต์จอดอยู่เฉยๆ เป็นเวลา 5 นาที สิ้นเปลืองน้ำมันโดยเปล่าประโยชน์ 500 ซีซี

ทางเดียวกันไปด้วยกัน           ถ้าขับรถยนต์ 5 คัน ไปทางเดียวกัน ที่หมายใกล้กัน ระยะทาง 48 กม./คัน (ไป-กลับ) ใน 1 ปี (260 วันทำงาน) จะสิ้นเปลืองน้ำมัน 5,200 ลิตร คิดเป็นค่าน้ำมัน 78,000 บาท ถ้าร้อยละ 1 ของรถยนต์ 5 ล้านคัน ใช้ Car Pool สลับขับ 5 คน ต่อรถ 1 คัน ใน 1 ปี จะประหยัดน้ำมันได้ 41.6 ล้านลิตร คิดเป็นเงิน 624 ล้านบาท

หลีกเลี่ยงชั่วโมงเร่งด่วน           ถ้ารถติดเพียงร้อยละ 1 ของ จำนวนรถยนต์ 5 ล้านคัน ในวันทำงานทุกวัน และในบางเสาร์-อาทิตย์ ใน 1 ปี (330 วัน/ปี) จะสิ้นเปลืองน้ำมัน 12.4 ล้านลิตร คิดเป็นค่าน้ำมัน 186 ล้านบาท

ใช้โทรศัพท์-โทรสาร เลี่ยงรถติด           ใช้อุปกรณ์สื่อสารแทนการเดินทาง เช่น ส่งหนังสือระหว่างหน่วยงาน หากเร่งด่วนก็ใช้วิธีส่งทางโทรสาร หากเป็นเอกสารสำคัญก็ใช้วิธีรวบรวมเอกสารแล้วส่งพร้อมกัน หนังสือเวียนที่ไม่สำคัญก็ใช้วิธีส่ง E-Mail หรือส่งไปรษณีย์


วางแผนก่อนเดินทาง           ถ้าไม่ศึกษาเส้นทางก่อนเดินทาง และขับรถหลงทาง 10 นาที จะสิ้นเปลืองน้ำมัน 500 ซีซี คิดเป็นค่าน้ำมัน 7.50 บาท ถ้ารถยนต์ 5 ล้านคัน ขับหลงทาง เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง ใน 1 ปี จะสิ้นเปลืองน้ำมัน 30 ล้านลิตร คิดเป็นค่าน้ำมัน 450 ล้านบาท

ลมยางต้อพอดี ไส้กรองต้องสะอาด           ความดันลมยางอ่อนกว่ามาตรฐาน 1 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ถ้าขับทุกวันเฉลี่ยวันละ 48 กม.ใน 1 เดือน
                • รถยนต์ - สิ้นเปลืองน้ำมันเพิ่มขึ้น 2.4 ลิตร
                • รถจักรยานยนต์ - สิ้นเปลืองน้ำมันเพิ่มขึ้น 1.2 ลิตร
                • รถบรรทุก - สิ้นเปลืองน้ำมันเพิ่มขึ้น 4.2 ลิตร

           ถ้าร้อยละ 30 ของรถแต่ละประเภท ละเลยเช่นนี้บ่อยๆ รวมเป็น 30 วัน/ปี จะสิ้นเปลืองน้ำมันเพิ่มขึ้น 5.8 ล้านลิตร คิดเป็นเงิน 87 ล้านบาท ถ้าไส้กรองสะอาด จะช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำมันวันละ 65 ซีซี   ควรทำความสะอาดทุก 2,500 กม. ควรเปลี่ยนทุก 20,000 กม.


ไม่บรรทุกของเกินจำเป็น           หากขับรถโดยบรรทุกของที่ไม่จำเป็น ประมาณ 10 กิโลกรัม เป็นระยะทาง 25 กม. สิ้นเปลืองน้ำมัน 40 ซีซี ถ้าร้อยละ 10 ของรถยนต์ทั่วประเทศ 5 ล้านคัน ขับรถโดยบรรทุกสิ่งของที่ไม่จำเป็น ใน 1 ปี จะสิ้นเปลืองน้ำมัน 7.3 ล้านลิตร คิดเป็นเงิน 10.95 ล้านบาท
ตรวจเช็คเครื่องยนต์เป็นประจำ          เปลี่ยนไส้กรองตามกำหนด เปลี่ยนน้ำมันหล่อลื่นทุก 5,000 กม. ตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่อง และน้ำในแบตเตอรี่ ตรวจสอบระดับน้ำป้อนหม้อน้ำ ปรับปรุงสมรรถนะรถยนต์ให้ดีตลอดเวลา ช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ร้อยละ 3-9

ขอขอบคุณข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน


คัดลอกจาก วิชาการ.คอม

เลือกภาชนะใส่อาหารอย่างไรให้ปลอดภัย?




ปัจจุบันภาชนะบรรจุอาหารเป็นส่วนสําคัญอย่างหนึ่งในชีวิตประจําวันสําหรับคนเรา เนื่องจากการบริโภคอาหารทุกมื้อต้องใช้ภาชนะบรรจุอาหารเพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกในการรับประทาน ภาชนะบรรจุอาหารที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ จาน ชาม ทั้งที่เป็นแก้ว เซรามิก และพลาสติก เป็นต้น อนึ่งภาชนะบรรจุอาหารแต่ละชนิดจะมีสมบัติและส่วนประกอบของสารต่างๆ แตกต่างกัน ดังนั้น การใช้ภาชนะบรรจุอาหารจึงควรเลือกให้เหมาะกับการใช้งานและประเภทของอาหาร เพราะการใช้ภาชนะบรรจุอาหารผิดประเภทอาจนําภัยอันตรายอันเนื่องมาจากสารพิษ เจือปนจากภาชนะได้ ซึ่งหากมีการสะสมเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ ภาชนะบรรจุอาหารที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีหลายประเภท ซึ่งมีหลักในการเลือกใช้เพื่อลดอันตรายอันอาจเกิดจากการใช้ภาชนะบรรจุอาหาร ดังนี้




อะลูมิเนียม            ชาวบ้านส่วนใหญ่มักนิยมใช้ภาชนะที่ทำจากอะลูมิเนียม เนื่องจากคงทนและราคาถูก แต่มีคำเตือนจากนักวิจัยว่าหากนำอะลูมิเนียมไปใช้กับของเปรี้ยว หรือของที่มีความเป็นกรดสูง เช่น แกงส้มในหม้ออะลูมิเนียม อาจมีอะลูมิเนียมละลายออกมาปนเปื้อนในอาหาร ซึ่งหากได้รับสารอะลูมิเนียมเข้าไปจำนวนมาก เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่อาจทำให้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลการวิจัยที่แย้งว่าอะลูมิเนียมที่ละลายออกมาปนในอาหารมีปริมาณเพียง เล็กน้อย ไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากไม่อยากเสี่ยง ก็อาจจะเลี่ยงการใช้อะลูมิเนียมกับอาหารรสเปรี้ยวหรืออาหารที่มีความเป็นกรด

สเตนเลส            ภาชนะที่ทำจากสเตนเลสเป็นภาชนะอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กัน เนื่องจากทนทานต่อการกัดกร่อน ไม่เป็นสนิม ทนความร้อน ความเย็น และการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างฉับพลันได้ดี สเตนเลสเป็นเหล็กที่มีส่วนผสมของโลหะหลายชนิด หากเป็นสเตนเลสที่มีส่วนผสมของโครเมียม เมื่อนำมาใช้หุงต้มก็จะมีธาตุเหล็กและโครเมียมปะปนในอาหารเล็กน้อย ถือเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายจึงไม่เป็นอันตราย แต่ หากเป็นสเตนเลสที่มีส่วนผสมของนิกเกิล อาจทำให้ผู้ที่แพ้นิกเกิลเกิดอาการแพ้ที่ผิวหนังได้ อย่างไรก็ตาม นิกเกิลจะละลายออกมาในอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น น้ำส้มสายชู ผู้ที่แพ้นิกเกิลอาจเลือกใช้ภาชนะสเตนเลสที่เคลือบสารอีนาเมล ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยากับอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด

ทองแดง            ภาชนะที่ทำมาจากทองแดง หากนำมาปรุงอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดจะสามารถละลายทองแดงออกมาได้ ทองแดงเป็นธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย การได้รับทองแดงในปริมาณเล็กน้อยจึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ แต่หากร่างกายสะสมทองแดงในปริมาณมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการท้องเสียและอาเจียนจากทองแดงเป็นพิษได้ เพื่อป้องกันปัญหานี้ จึงมีการนำภาชนะทองแดงมาเคลือบด้วยดีบุก แต่ดีบุกที่เคลือบไว้ก็จะเสื่อมไปตามอายุการใช้งาน ฉะนั้นเมื่อใช้ไปนานๆ ก็ควรจะเปลี่ยนใหม่


ทองเหลือง            ทองเหลืองเป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสี มีความต้านทานต่อการเกิดสนิมได้ดีพอสมควร นิยมทำขนมในกระทะทองเหลือง เช่น ผลไม้กวน เพราะมักจะไม่ติดกระทะ และไม่ทำให้สีของอาหารเปลี่ยนไป

เซรามิก            ภาชนะเซรามิกที่เคลือบด้วยสีสันลวดลายสวยงาม อาจมีส่วนผสมของสารตะกั่วอยู่ หากมีปริมาณมากเกินไปจะเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะเมื่อนำไปใส่อาหารร้อนจัด เช่น กาแฟร้อน ชาร้อน และอาหารรสเปรี้ยวหรืออาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำผลไม้ เพราะจะทำให้สารตะกั่วในสีละลายออกมาปนเปื้อนในอาหารได้

แก้ว            ภาชนะที่ทำจากแก้ว ส่วนใหญ่จะมีความปลอดภัย ยกเว้นแก้วเนื้อบาง ไม่ควรใส่น้ำเดือดหรือนำเข้าเตาไมโครเวฟ เพราะอาจแตกได้ แต่หากเป็นแก้วคุณภาพดีก็จัดว่าเป็นภาชนะที่ใช้กับเตาไมโครเวฟได้อย่าง ปลอดภัยที่สุด ถ้าเป็นแก้วที่มีฝาปิดก็สามารถทนต่อความดันที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับความร้อน โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ต้องไม่ตกแต่งขอบ หรือลวดลายด้วยสีทองหรือเงิน เพราะจะมีสารตะกั่วออกมาปนเปื้อนกับอาหารได้ นอกจากนี้ ภาชนะที่ทำจากแก้วยังเหมาะสำหรับการเก็บอาหารที่รับประทานไม่หมดอีกด้วย


เมลามีน            เมลามีนผลิตจากอะมิโนเรซินที่เป็นโพลีเมอร์ของเมลามีนกับฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งหากนำไปใช้ไม่ถูกต้อง เช่น ใส่อาหารร้อนจัด น้ำเดือด หรือนำไปใช้กับเตาไมโครเวฟ อาจทำให้ได้รับอันตรายจากสารฟอร์มาลดีไฮด์ที่เป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินหายใจได้ สำหรับภาชนะเมลามีนที่ซื้อมาใหม่ ควรล้างด้วยน้ำเดือดก่อนการใช้งาน เพื่อชะล้างสิ่งสกปรกและฟอร์มาลดีไฮด์บางส่วนออกไป ไม่ควรใช้ใยสังเคราะห์ เช่น ฝอยเหล็กหรือสก็อตไบรท์มาขัดถู เพราะจะทำให้สารที่เคลือบผิวเมลามีนหลุดออก ทำให้มีริ้วรอย สีและโลหะหนักจะออกมาปนเปื้อนในอาหารได้ นอกจากนี้ รอยขูดขีดที่เกิดขึ้นอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้อีกด้วย

พลาสติก            หากการผลิตไม่คัดเลือกเม็ดพลาสติกที่มีคุณภาพและไม่ควบคุมวิธีการผลิตให้ดี แล้ว พลาสติกซึ่งเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่เรียกว่า โพลีเมอร์ จะแตกตัวเป็นโมโนเมอร์ ละลายออกมาปนในอาหารได้ หากเป็นพลาสติกที่ผสมสี ตะกั่วและสารพิษในสีก็จะออกมาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิตยังมีการใช้สารเคมีหลายชนิด ซึ่งอาจตกค้างอยู่บริเวณผิวหน้าพลาสติก หากสัมผัสถูกอาหารก็กลายเป็นสารก่อมะเร็งได้ ดังนั้น จึงต้องควบคุมคุณภาพภาชนะพลาสติกไม่ให้มีปริมาณโมโนเมอร์ สี และสารเคมีต่างๆ เกินกว่าที่กำหนด นอกจากนี้ พลาสติกจะมีหลายเกรดซึ่งผลิตมาสำหรับการใช้งานเฉพาะอย่าง จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสม

  • อย่าใช้ภาชนะพลาสติกใส่อาหารร้อนจัด อาหารที่มีรสเปรี้ยวหรืออาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด
  • ขวดพลาสติกใสที่บรรจุน้ำดื่มขาย ควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ควรนำมากรอกน้ำดื่มใส่ตู้เย็น หากจะกรอกน้ำแช่ตู้เย็นควรเลือกขวดพลาสติกที่ผลิตมาโดยเฉพาะหรือขวดแก้วจะดีกว่า
  • ขวดพลาสติกใสที่บรรจุน้ำมันพืช น้ำปลา ซอส น้ำดื่ม อย่าเก็บในที่ร้อน เนื่องจากจะเร่งให้สารเคมีละลายออกมา
  • การล้างภาชนะพลาสติกควรระวังอย่าให้ขูดขีดเป็นรอยถลอก จะทำให้สารเคมีละลายออกมามากขึ้น

ภาชนะกับเตาไมโครเวฟ            การเลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารกับเตาไมโครเวฟ ควรเป็นภาชนะที่ไม่ดูดกลืนคลื่นไมโครเวฟและสามารถทนต่อความร้อนและการ เปลี่ยนแปลงอุณหภูมิได้ดี ภาชนะที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ ภาชนะแก้ว หรือ แก้ว-เซรามิก รองลงมาคือ ภาชนะเซรามิกและภาชนะพลาสติก ตามลำดับ การเลือกใช้ภาชนะสำหรับเตาไมโครเวฟนั้นปัจจัยที่ควรพิจารณาอีกประการคือ ประเภทของการประกอบอาหารและอุณหภูมิที่ต้องใช้ ถ้าการประกอบอาหารที่ต้องใช้อุณหภูมิสูงก็ควรหลีกเลี่ยงภาชนะพลาสติกที่ทน ความร้อนไม่สูง

            ที่สำคัญสุดในการเลือกภาชนะบรรจุอาหารควรคือ ต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีตรา หรือเครื่องหมายการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่า สินค้าเหล่านั้นได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพว่าได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก My firstbra


คัดลอกจาก วิชาการ.คอม