วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

"โมโรเฮยะ" ราชาแห่งวิตามิน


  อาหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสําคัญในการดํารงชีวิตของมนุษย์ ในแต่ละวันร่างกายต้องการอาหารครบทั้ง 5 หมู่ อาหารแต่ละชนิดให้คุณค่าแตกต่างกันไป อาหารจาก "ผัก" จึงมีประโยชน์และให้คุณค่ากับร่างกายมากมาย รวมถึงวิตามินต่างๆ ในผักนั้นยังช่วยป้องกันโรค ส่งผลให้ผิวพรรณสดใส อีกทั้งยังมีคุณค่าทางยาแฝงด้วย

            นอกจากวิตามินแล้วสิ่งสําคัญที่พบมากในผักทุกชนิดคือ "ใยอาหาร" (Fiber) ซึ่งเป็นส่วนที่ย่อยไม่ได้และไม่ให้พลังงาน แต่เป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการมาก ใยอาหารจะช่วยรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและช่วยในการขับถ่ายให้สะดวกขึ้น ในปัจจุบันวิถีการกินผักเพื่อสุขภาพ หรือการกินผักปลอดสารพิษ กําลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ซึ่งนายสัตวแพทย์สิทธิศักดิ์ เหมืองสิน ผู้จัดการบริษัท ภูเก็ต เป๋าฮื้อ ฟาร์ม และภัตตาคารเปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้นําผักชนิดหนึ่งเข้ามาทําการทดลองปลูก ซึ่งเป็นผักที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารจนได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งวิตามิน ผักที่ว่าคือ "โมโรเฮยะ" (Moroheiya)

โมโรเฮยะ ผักที่ได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งวิตามิน มีลักษณะคล้ายกับใบกระเพราะสมุนไพรของบ้านเรา

            โมโรเฮยะ (Moroheiya) มีสารอาหารประเภทเบต้าแคโรทีน มากกว่าผักโขมถึง 3 เท่า ขณะที่มีวิตามินเอ บี 1 บี 2 และวิตามินซี มากกว่าแครอท บร็อคโคลี่และผักโขมรวมกัน นอกจากนี้ยังมีสารอาหารประเภทโปแตสเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก และเส้นใยอาหารชนิดละลายน้ำในปริมาณสูงมากเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่าราชาแห่งวิตามิน โมโรเฮยะมีต้นกําเนิดมาจากประเทศอียิปต์ แต่เป็นที่นิยมบริโภคของชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เพราะวิตามินและแร่ธาตุในผักโมโรเฮยะจะช่วยให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทํางานได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคและกําจัดอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งได้ด้วย นอกจากนี้เส้นใยอาหารของโมโรเฮยะยังช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดความอ้วน ลดเบาหวาน และป้องกันมะเร็งลําไส้ใหญ่

            ต้นโมโรเฮยะนี้มีลักษณะคล้ายกับต้นกระเพรา แต่ส่วนโคนของใบจะมีแฉกขนาดเล็กๆ แยกออกมา 2 ข้างคล้ายกับหางของแมลง สามารถปลูกได้ดีในอากาศร้อน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่อายุประมาณ 2 เดือน หลังจากนั้นจะเริ่มมีฝักซึ่งเมื่อแก่จัดอายุประมาณ 6 เดือน จะสามารถเก็บมาใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไปได้ นอกจากโมโรเฮยะแล้วผักพื้นบ้านของไทย เช่น กระถิน กระเทียม มันเทศ ฟักทอง แครอท ผักใบเขียว พริก มะเขือเทศ และ หัวหอม ฯลฯ ก็มีวิตามินและแร่ธาตุ ไม่น้อยไปกว่าโมโรเฮยะ และยังมีคุณค่าทางยาสมุนไพรแฝงอยู่ด้วย

            จากคุณค่าและวิตามิน ในผักโมโรเฮยะที่กล่าวมาข้างต้นทําให้ในปัจจุบันมีการนําผักโมโรเฮยะ มาผลิตหรือใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารต่างๆ มากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโมโรเฮยะผสมไชวีส ผงโมโรเฮยะสําหรับทําอาหารและเบเกอรี่ ชาโมโรเฮยะ บะหมี่อบแห้งโมโรเฮยะ คุ๊กกี้โมโรเฮยะ และบิสกิตโมโรเฮยะ วิตามินในโมโรเฮยะหรือผักต่างๆ ถือเป็นสารอินทรีย์ที่สําคัญต่อชีวิต (Vita for life) แม้ว่าร่างกายจะต้องการวิตามินในปริมาณน้อย แต่ก็มีความจําเป็นต่อการทํางานของระบบประสาท และอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายนับ ตั้งแต่การหายใจของเซลล์ การนําโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต ไปใช้ในการสร้างเนื้อเยื่อ และผลิตพลังงานสําหรับดํารงชีวิต วิตามินจึงเป็นตัวจักรเล็กๆ แต่มีความสําคัญยิ่ง ซึ่งร่างกายจะขาดเสียมิได้ และนอกจากความสําคัญของใยอาหารที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าสามารถช่วยรักษาสุขภาพ ให้แข็งแรงและช่วยในการขับถ่ายให้สะดวกแล้วนั้น ใยอาหาร (fiber) ยังมีคุณประโยชน์กับร่างกายด้านอื่นๆ คุณประโยชน์ของการบริโภคอาหารที่มีใยอาหารสูง ได้แก่


            1. ใยอาหารกับโรคท้องผูก การบริโภคอาหารที่มีใยอาหารสูงจะช่วยลดปัญหาอาการท้องผูก เพราะใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำจะช่วยเพิ่มน้ำหนัก ปริมาณกากอาหารทําให้กากอาหารนุ่มและช่วยลดเวลาที่กากอาหารเคลื่อนที่ผ่านลําไส้ใหญ่ ส่วนใยอาหารที่ละลายน้ำพวกเฮมิเซลลูโลสจะช่วยดูดซับน้ำในทางเดินอาหารทําให้กากอาหารนุ่มและช่วยลดเวลาที่กากอาหารเคลื่อนที่ผ่านลําไส้ใหญ่เช่นเดียวกัน

            2. ใยอาหารกับโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ การบริโภคอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลําไส้ใหญ่โดยเฉพาะใยอาหารที่ ไม่ละลายน้ำเช่น รําข้าวสาลี เซลลูโลส

            3. ใยอาหารกับโรคอ้วน การบริโภคอาหาร ที่มีใยอาหารมากจะให้พลังงานน้อย อาหารที่มีใยอาหารต่ำโดยเฉพาะน้ำตาล มีผลต่อการกระตุ้นศูนย์ควบคุมการอิ่มได้น้อยมาก เนื่องจากบริโภคง่ายและรวดเร็วทําให้บริโภคได้มาก ใยอาหารช่วยในการลดน้ำหนักได้เนื่องจากใยอาหารที่ละลายน้ำจะกลายเป็นเจ ลเพิ่มความหนืดและการเกาะตัวของสารในกระเพาะอาหารทําให้ผู้บริโภครู้สึกอิ่มเร็วขึ้น และอิ่มนานทําให้กระเพาะอาหารว่างช้าลง

            4. ใยอาหารกับโรคไตเรื้อรัง ใยอาหารที่เป็นเฮมิเซลลูโลส สามารถลดระดับสารยูเรีย และสารครีเอตินิน (Creatinine) ในเลือดของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้ร้อยละ 11-19 และสามารถเพิ่มการขับถ่ายสารไนโตรเจนออกทางอุจจาระได้ร้อยละ 39 ช่วยลดการสังเคราะห์แอมโมเนียได้ถึงร้อยละ 30 และจะช่วยลดอาการยูรีเมีย (uremia) ซึ่งเป็นอาการของโรคไตวาย มีของเสียคั่งในเลือดจนเป็นพิษ จากของเสียนั้น ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้ นอกจากโรคที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การบริโภคผักซึ่งมีใยอาหารสูงยังสามารถช่วยป้องกัน โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการย่อยและดูดซึมแลคโตสได้ดีขึ้น

            นอกเหนือจากวิตามิน แร่ธาตุและใยอาหารแล้ว ในผักยังมีสารสุขภาพอื่นที่ให้คุณค่าแก่ร่างกาย เช่น น้ำมันระเหยแอนติไบโอติกธรรมชาติ ฮอร์โมน ธาตุสี (pigment) จําพวกคลอโรฟิลล์ ไบโอฟลา-วินอยด์ (bio-flavinoids) โดยคลอโรฟีลเพ็กติน (pectin) และแอนโตไซอันส์ (anthocyans) ช่วยป้องกันร่างกายจากรังสีและสิ่งปนเปื้อนที่มากับอากาศ และชะลอความแก่ได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก My firstbra


ผักสวนครัวของบ้านเราก็ยังเป็นแหล่งวิตามินที่ดี หาง่าย และยังเป็นสมุนไพรอีกด้วย


            เชื่อกันว่าสารเหล่านี้เป็นเหมือนยาอายุวัฒนะทําให้สุขภาพร่างกายโดยรวมดีขึ้น ผักโมโรเฮยะเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเบต้าแคโรทีน และเส้นใยอาหารสูงจึงช่วยในเรื่องการป้องกันมะเร็งและโรคในผู้สูงอายุได้ดี ทั้งยังมีแคลเซียมมากไม่แพ้ผักชนิดอื่นและอุดมไปด้วยวิตามินชนิดต่างๆ ดังนั้น ผักโมโรเฮยะถือเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ ผู้บริโภคควรปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภค โดยหันมาบริโภคผักเพื่อสุขภาพให้มากขึ้น และควรรับประทานผักให้หลากหลายชนิดเป็นประจํา เพื่อสุขภาพและร่างกายที่แข็งแรงตลอดไป และสอดคล้องกับหลักการที่นักวิชาการสมัยใหม่เรียกว่า "balanced diet"


ขอขอบคุณ วิชาการ.คอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น