วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

“ยูริก” ในร่างกายสูง เสี่ยงหูมีปัญหา

เคยได้ยินว่า “ยูริก” เกี่ยวพันกับโรคเกาต์ และมีผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่วันนี้ยูริกมีอันตรายต่อหู เป็นอย่างไร มาติดตามกัน

กรดยูริกในเลือดที่สูง นอกจากจะเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคเกาต์ โรคนิ่ว และโรคไตอักเสบแล้ว อาจมีผลต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาหูอื้อ เสียงดังในหู และบ้านหมุนได้ โดยจะทำให้เส้นเลือดหดตัว เลือดไปเลี้ยงประสาทหู และอวัยวะทรงตัวได้น้อย จึงทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัวได้

กรดยูริกในร่างกายเกิดจากการสร้างขึ้นในร่างกายประมาณร้อยละ 80 และมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ร้อยละ 20 โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนมากเกินไป ในผู้ใหญ่ร่างกายต้องการโปรตีนวันละ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ในเด็กและวัยรุ่นอาจต้องการโปรตีนมากกว่านั้นเล็กน้อย เมื่อร่างกายย่อยโปรตีนใช้แล้วจะเกิดกรดยูริกขึ้น

หากบริโภคโปรตีนมากเกินไป กรดยูริกส่วนเกินจะเข้าสู่กล้ามเนื้อสะสม และตกตะกอน ทำให้ปวดเมื่อยเวลาเคลื่อนไหวถ้ากรดยูริกไปตกตะกอนที่ข้อต่อจะทำให้กลายเป็น โรคเกาต์ หรือหากไปรวมอยู่ในเส้นประสาทจะกลายเป็นโรคเส้นประสาทอักเสบ และเกิดอาการปวดตามเส้นประสาท นอกจากนี้โปรตีนที่มากเกินไปยังทำให้ไตทำงานหนักและอาจทำให้ไตพิการในผู้สูงอายุ

กรดยูริกนี้จะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ประมาณร้อยละ 67 และทางอุจจาระประมาณร้อยละ 33 การที่มีกรดยูริกในเลือดสูง เกิดจากร่างกายสร้างกรดยูริกมากกว่าปริมาณที่ขับถ่าย นอกจากนี้ ยังเกิดจากกรรมพันธุ์ จากการขาดเอนไซม์บางตัว หรือเอนไซม์บางตัวทำงานมากเกินไป และสุดท้ายเกิดจากโรคบางชนิดที่สร้างกรดยูริกเกิน เช่น โรคมะเร็ง โรคเลือด รวมทั้งจากการดื่มสารที่มีแอลกอฮอล์ผสม เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ หรือรับประทานอาหารที่มีสาร “พิวรีน” สูง ซึ่งสารนี้จะเปลี่ยนเป็นกรดยูริกในเลือด ทำให้มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงผิดปกติ

ดังนั้น ผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูงผิดปกติ ควรระวังในเรื่องของอาหารที่รับประทาน ดังนี้
1.งดอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ตับอ่อน ไส้ ม้าม หัวใจ สมอง กึ๋น เซ่งจี๊ น้ำเกรวี กะปิ ยีสต์ ปลาดุก กุ้ง หอย ปลาอินทรีย์ ปลาไส้ตัน ปลาซาร์ดีน ไข่ปลา ชะอม กระถิน เห็ด ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ สัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ ห่าน รวมถึงน้ำสกัดเนื้อซุปก้อน
2.ลด อาหารที่มีพิวรีนปานกลาง ได้แก่ เนื้อสัตว์ เช่น หมู วัว ปลาทุกชนิด ยกเว้น ปลาดุก ปลาอินทรีย์ ปลาไส้ตัน ปลาซาร์ดีน และอาหารทะเล เช่น ปลาหมึก ปู ถั่วลิสง ถั่วลันเตา ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง ดอกกะหล่ำ ผักโขม สะตอ ใบขี้เหล็ก กระถิน ข้าวโอ๊ต เบียร์ เหล้าชนิดต่างๆ เหล้าองุ่น ไวน์ ซึ่งทำให้การขับถ่ายกรดยูริกทางปัสสาวะลดลง ส่งผลให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
3.รับประทานอาหารเหล่านี้ได้ตามปกติ เนื่องจากมีพิวรีนน้อย ได้แก่ ข้าวชนิดต่างๆ ยกเว้น ข้าวโอ๊ต นอกจากนี้ ยังมีถั่วงอก คะน้า ผลไม้ชนิดต่างๆ ไข่ นมสด เนย และเนยเทียม ขนมปัง ขนมหวานหรือน้ำตาล ไขมันจากพืชและสัตว์

นอกจากอาหารแล้ว ควรดื่มน้ำมากๆ ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1-2 ลิตร เพื่อลดการคั่งของกรดยูริกในร่างกาย ถ้าอ้วนเกินไป ควรลดน้ำหนักลงทีละน้อย อย่าลดฮวบฮาบ เพราะอาจทำให้มีการสลายตัวของเซลล์อย่างรวดเร็วและมีการสร้างกรดยูริก ทำให้เกิดปัญหาหูขึ้นได้ และสำหรับยาบางชนิดอาจมีผลต่อร่างกายขับกรดยูริกได้น้อยลง เช่น แอสไพรินหรือยาขับปัสสาวะไทอาไซด์ ฉะนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนจะใช้ยา

ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของสสส. และ วิชาการดอทคอมhttp://www.thaihealth.or.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น