วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

ถึงเวลา...รื้อสุสานคอมพิวเตอร์

ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์ราคาถูกมาก ซื้อหาง่าย ทำให้การใช้แล้วทิ้งมีปริมาณมากขึ้น จึงกลายเป็นปัญหา เพราะเมืองไทยยังไม่มีโรงงานรีไซเคิลคอมพิวเตอร์ ตามสถิติแล้วคอมพิวเตอร์จะมีอายุการใช้งาน 2-3 ปี หลังจากนั้นอุปกรณ์บางชิ้นจะใช้การไม่ได้ กลายเป็นขยะเพิ่มมลพิษให้โลกใบนี้

แม้อุปกรณ์ส่วนใหญ่จะสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ แต่บางชิ้นก็ยากต่อการกำจัด ถ้าจะกำจัดต้องผ่านโรงงานรีไซเคิลที่เป็นระบบ และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมืองไทยยังไม่มีโรงงานรีไซเคิลคอมพิวเตอร์อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ปัญหาขยะคอมพิวเตอร์มีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในมุมหนึ่งก็มีการนำคอมพิวเตอร์ที่ใช้การไม่ได้กลับมาซ่อมแซม เพื่อนำไปบริจาคให้สถานศึกษาและจำหน่ายในราคาถูก รวมถึงดัดแปลงชิ้นส่วนนำไปใช้กับอุปกรณ์และเครื่องมืออิเลคทรอนิกส์บางชนิด แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันขยะคอมพิวเตอร์กำลังจะกลายเป็นสุสานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และกระจัดกระจายอยู่ทุกหย่อมในสังคม ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักรู้ถึงพิษภัยขยะคอมพิวเตอร์ที่ประกอบด้วยโลหะ หนัก เนื่องจากชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์บางชิ้นบางรุ่นไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ จึงกลายเป็นขยะพิษทิ้งขว้างตามที่ต่างๆ โดยปกติแล้วคอมพิวเตอร์มีส่วนประกอบหลายชนิด อาทิ แผงวงจร แบตเตอรี่ หลอดรังสีแคโทดในจอภาพ หม้อแปลง และมีส่วนผสมของโลหะอันตรายทั้งตะกั่ว ปรอท นิกเกิลและแคดเมียม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แม้จะมีการฝั่งกลบก็ย่อยสลายได้ยากขยะเสก 'โรค'

ปัญหาขยะคอมพิวเตอร์ แม้จะไม่ใหญ่เท่าเครื่องมืออิเลคทรอนิกส์พวกโทรทัศน์ ตู้เย็น หรือ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ แต่ขยะเหล่านี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคม แม้กระทั่งประเทศในยุโรปยังออกมาตรการป้องกันไม่ให้มีการนำไปฝังกลบ เนื่องจากมีองค์ประกอบของวัสดุมีพิษ แต่ในหลายประเทศก็ยังมีการฝังกลบ

เมื่อ 10 ปีที่แล้วทางกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกา ออกมายืนยันว่า ขยะอิเลคทรอนิกส์กว่า 4.6 ล้านตันถูกนำไปฝังกลบ และมีหลายประเทศไม่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างในฮ่องกง มีการนำคอมพิวเตอร์ประมาณร้อยละ 10-20 ไปทิ้งและนำไปฝังกลบ
ปริมาณขยะคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้บางแห่งกลายเป็นสุสานขนาดใหญ่ สูญเสียพลังงานจำนวนมาก เนื่องจากการผลิตคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลพวกถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสารเคมีเป็น 10 เท่าของน้ำหนักเครื่อง

นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้มีการใช้วัสดุเคมีที่เป็นอันตรายต่อ โลกน้อยลง รวมถึงผู้บริโภคยื่นเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรับผิดชอบในการกำจัดเครื่อง คอมพิวเตอร์รุ่นเก่า ซึ่งมีรายงานว่า เฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว แต่ละปีมีคอมพิวเตอร์ต้องกำจัดทิ้งประมาณ 30 ล้านเครื่อง

ในเมืองไทยแม้จะมีการนำคอมพิวเตอร์กลับมาซ่อมแซม เพื่อใช้ใหม่อีกครั้ง แต่ยังมีคอมพิวเตอร์อีกจำนวนมากใช้การไม่ได้ จนกลายเป็นสุสานขยะ กรณีดังกล่าว ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้ช่วยประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งเคยศึกษาเรื่องคอมพิวเตอร์กับการรีไซเคิล และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า ชิ้นส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์นำมารีไซเคิลได้เกือบหมด แต่เมืองไทยไม่มีโรงงานรีไซเคิล ทั้งๆ ที่ตลาดด้านนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว แม้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์จะเป็นส่วนหนึ่งของขยะอิเลคทรอนิกส์ แต่ก็เป็นปัญหาใหญ่ของเมืองไทย "ในสังคมไทยมีการเพิกเฉยต่อขยะที่กองเป็นภูเขา มีบางหมู่บ้านทำเรื่องแยกชิ้นส่วนขยะคอมพิวเตอร์และขยะอิเลคทรอนิก แต่แยกไม่ถูกวิธี ทั้งๆ ที่มีอุปกรณ์บางชิ้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่พวกเขาไม่รู้ จากที่เห็นการแยกชิ้นส่วน ถ้าชิ้นส่วนใดไม่มีประโยชน์ คนแยกก็จะกองทิ้งไว้ พอฝนตกก็ชะล้างสารพิษลงดิน นอกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพด้วย เรื่องนี้น่ากลัว พวกอุปกรณ์ไฟฟ้าตู้เย็น ทีวี มีปัญหามากกว่าชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ “ เธอพยายามเปรียบเทียบให้เห็นว่า ขยะต่างรูป ไม่ว่าแบตเตอรีโทรศัพท์มือถือ ถ่านไฟฉาย และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์จะมีองค์ประกอบสารพิษต่างกัน และเรื่องนี้ยังไม่มีผู้ทำงานวิจัยออกมาเป็นรูปธรรม หากมองเฉพาะขยะคอมพิวเตอร์ที่ถูกทิ้งขว้างไม่ได้รับการเหลียวแล และกำลังเป็นปัญหาในเวลานี้และอนาคต เพราะมีส่วนประกอบหลายอย่างเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง อุปกรณ์ในคอมพิวเตอร์พวกหลอดรังสีแคโทด โลหะบัดกรีในแผงวงจร ซึ่งเป็นสารตะกั่ว หากสารพิษเหล่านี้สะสมในร่างกายมนุษย์ในปริมาณมาก ก็จะทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ไตและระบบสืบพันธุ์ และเมื่อสารพิษสะสมในบรรยากาศ ก็จะมีผลต่อดิน พืช สัตว์ และจุลชีพ ส่วนฟอสฟอรัสที่ใช้เคลือบผิวหน้าภายในหลอดรังสีแคโทด มีข้อมูลจากการทหารเรือ เตือนว่า สารชนิดนี้มีความเป็นพิษสูง มีผลต่อผิวหนังและระบบย่อยอาหาร หากได้รับปริมาณมาก อาจทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนแผงวงจรหลักมีสารพวกเบริลเลียม หากสัมผัสสารชนิดนี้จะทำให้เกิดแผลที่ผิวหนัง และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด นอกจากนี้สารแคดเมียมในแผงวงจร แบตเตอรี่ และหลอดรังสีแคโทดแบบเก่า ถ้าสะสมในร่างกายมากๆ จะทำให้ไตมีปัญหาและกระดูกผุกร่อน แยกชิ้นส่วน...รีไซเคิล ในต่างประเทศชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง หากมีการแยกส่วนตามประเภทวัสดุ จะมีทั้ง ซีพียู หลอดภาพ แผงวงจร อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ พลาสติกและโลหะ ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ได้เกือบหมด

“การรีไซเคิลขยะคอมพิวเตอร์สามารถเพิ่มมูลค่าได้มากกว่า การทำลายทิ้งและฝังกลบ เพราะคอมพิวเตอร์ใช้งานสองปี อุปกรณ์บางชิ้นก็หมดสภาพ วิธีการรีไซเคิลคอมฯ น่าจะง่ายกว่าการกำจัด แต่ไม่เกิดในสังคมไทย เพราะปัญหาหลายอย่าง เมืองไทยไม่มีระบบการเรียกเก็บคอมพิวเตอร์คืน ซึ่งในต่างประเทศมีระบบนี้ แต่ในสังคมไทยมีข้อดีอย่างหนึ่งคือ มีการนำคอมพิวเตอร์ที่มีปัญหาการใช้งาน กลับมาซ่อมแซมใช้ใหม่และแยกชิ้นส่วนไปใช้อย่างอื่น” ดร.ขวัญฤดี กล่าวและบอกว่า
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์มีโรงงานรีไซเคิลคอมพิวเตอร์แล้ว ถ้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ตัวไหนรีไซเคิลไม่ได้ พวกเขาก็จะส่งไปรีไซเคิลที่ประเทศเยอรมัน และโดยปกติโรงงานรีไซเคิลในฟิลิปปินส์จะรับขยะคอมพิวเตอร์จากโรงงานในสหรัฐ อเมริกามารีไซเคิล
ในช่วงที่เธอไปดูงานรีไซเคิลคอมพิวเตอร์ใน ฟิลิปปินส์ เธอบอกว่า ที่นั่นเป็นโกดังเล็กๆ ด้านหน้ามีแผนกซ่อมแซมคอมพิวเตอร์ประกอบใหม่ และมีแผนกรีไซเคิลอื่นๆ ทั้งฝ่ายถอดน็อค ถอดจอ และชิ้นส่วน ฯลฯ
“จริงๆ แล้วการทำโรงงานรีไซเคิลชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เรื่องยาก พวกชิปตัวเล็กๆ หรือชิ้นส่วนบางชนิดที่สกัดด้วยสารเคมีเป็นงานที่ยากในการรีไซเคิล ทางฟิลิปปินส์ก็จะส่งไปที่เยอรมัน ”ดร.ขวัญฤดี กล่าว และอธิบายต่อว่าในประเทศพัฒนาแล้วมีจำนวนคอมพิวเตอร์ที่ถูกทิ้งมากขึ้น เรื่อยๆ จึงต้องมีโรงงานรีไซเคิล เพื่อรับรองปัญหาส่วนนี้ ในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา หากคอมพิวเตอร์ใช้งานไม่ได้แล้ว พวกเขาจะทิ้งแล้วซื้อเครื่องใหม่ ส่วนในเมืองไทยยังไม่มีโรงงานรีไซเคิลคอมพิวเตอร์ ครบวงจร มีเพียงโรงงานรีไซเคิลพลาสติก และโรงงานสกัดทองออกจากโลหะ
“เราไม่มีโรงงานรีไซเคิลจอภาพ เพราะสารพิษพวกฟอสฟอรัสเคลือบผิวหน้าภายในหลอดรังสีแคโทดจอภาพมีความเป็นพิษ สูงมาก สาเหตุที่ไม่มีโรงงานรีไซเคิลในเมืองไทย เพราะระบบการซื้อขายไม่เอื้อให้คนซื้อนำคอมพิวเตอร์ใช้การไม่ได้กลับคืนสู่ โรงงานรีไซเคิล แต่ในอนาคตต้องมีโรงงานรีไซเคิลคอมพิวเตอร์” มัดจำ ทำระบบซาเล้ง
ดร.ขวัญฤดี บอกอีกว่า ต้องมีระบบเรียกเก็บคอมพิวเตอร์ที่หมดอายุการใช้งาน สามารถทำเป็นระบบมัดจำ ถ้านำมาคืนจะได้รับเงินเพื่อนำกลับมาที่โรงงานรีไซเคิล

“ต้องเอาร้านเล็กๆ มารวมกันเพื่อทำเป็นโรงงาน และจัดระบบการจัดการที่ดี เพราะขยะคอมพิวเตอร์ ถ้าทิ้งไว้กลางแจ้ง เมื่อฝนตกชะล้างสารพิษลงดิน ย่อมมีผลต่อระบบนิเวศน์”
มาตรการที่เธอเสนอ ก็คือ ต้องนำกฏหมายมาใช้บังคับ เพื่อเรียกเก็บคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ที่ใช้การไม่ได้ และมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

“เมืองไทยยังจัดการชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ได้ไม่ดี มีขยะคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้เป็นกอง เป็นอันตราย เพราะเราไม่วางระบบ ถ้าวางระบบเชื่อมโยงกับซาเล้ง โรงงานรีไซเคิลก็น่าจะเกิด“
เธอยกตัวอย่างกรณีหมู่บ้านกาฬสินธุ์ที่มีการแยกชิ้นส่วนอิเล คทรอนิกส์ ซึ่งมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รวมอยู่ด้วย และเคยมีพ่อค้าไปรับชิ้นส่วนจากนิคมอุตสาหกรรมมาแบ่งให้คนในหมู่บ้านแยกชิ้น ส่วน แต่กลายเป็นว่า งานแยกชิ้นส่วนขยะพวกนี้ทำให้คนป่วยจำนวนมาก แต่ไม่มีนักวิจัยคนใดศึกษาว่า คนแยกขยะป่วยเพราะอะไร มีเพียงข้อมูลยืนยันว่า ผู้ป่วยมีสารโลหะในกระแสเลือด
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดร.ขวัญฤดีย้ำเสมอ ก็คือ การเรียกคืนคอมพิวเตอร์ใช้แล้ว โดยมีค่าธรรมเนียมเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนนำคอมพิวเตอร์มือสองกลับมารีไซเคิล
“เวลาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แก้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องแก้ทั้งระบบ เรื่องมลพิษต้องมองปัจจัยหลายเรื่อง ไม่ใช่สารพิษอย่างเดียว”
รีไซเคิล เงินทั้งนั้น

ส่วนประกอบในเครื่องคอมพิวเตอร์ หากมองหยาบๆ...ตัวเครื่องจะประกอบด้วยเหล็ก คีย์บอร์ดมีส่วนผสมของพลาสติก และพรินเตอร์มีทั้งพลาสติกและเหล็ก ทั้งหมดล้วนมีมูลค่าในการรีไซเคิล
นอกจากกระบวนการรีไซเคิลขยะคอมพิวเตอร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากมีความคิดสร้างสรรค์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์หลายอย่างนำมาดัดแปลงใช้ประโยชน์ได้อีก ยกตัวอย่างซีดีรอม สามารถนำกลับใช้เป็นมอเตอร์ไฟฟ้าทำหุ่นยนต์บังคับ ,พัดลมระบายความร้อนในตัวเครื่อง นำมาทำพัดลมระบายความร้อนในรถยนต์ หรือใช้ในอุปกรณ์อื่นๆ ที่ชิ้นส่วนไม่ใหญ่มาก
พันเอกสิทธิโชค มุกเตียร์ ผู้อำนวยการกองสารสนเทศ กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม นักประดิษฐ์อีกคนที่รู้จักใช้ประโยชน์จากขยะคอมพิวเตอร์ เขาซื้อฮาร์ดดิสก์เก่าๆ ที่คนจำนวนมากไม่สนใจจากร้านซาเล้ง แล้วนำมารื้อ ถอด แยกชิ้นส่วนโลหะ เพื่อนำมาทำเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ให้เคลื่อนไหวกว่า 30 ชนิด อาทิ กระดิ่งไฟฟ้า ไมโครโฟน แขนกลเครื่องดนตรี และจานรับสัญญาณดาวเทียม ฯลฯ
"พวกฮาร์ดดิสก์เสียๆ ตัวละประมาณ 50-60 บาท ผมเอามาใช้ประโยชน์ได้เยอะ ฮาร์ดดิสก์ประกอบด้วยวงจรคอมพิวเตอร์ แขน ซึ่งมีปลายเข็มอ่านข้อมูลได้เร็วมาก และแม่เหล็ก บางตัวผมนำมาทำเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ผมสอนให้เด็ก เยาวชนและคนรุ่นใหม่นำฮาร์ดดิสก์พวกนี้มาประกอบวัสดุสิ่งของให้เคลื่อนไหว ได้ บางชิ้นทำเป็นอุปกรณ์ในตุ๊กตาขยับแขนได้ ผมเห็นในเมืองนอก นำแผงวงจรในอุปกรณ์ขยะคอมพิวเตอร์มาทุบ เพื่อแยกส่วนผสมที่เป็นทองออกมา"

แม้กระทั่งแผ่นฮาร์ดดิสก์ด้านในที่มีความแวววาวเหมือนกระจก เขาสามารถดัดแปลงทำเป็นจานรับสัญญาณดาวเทียม ในส่วนนี้เขาบอกว่า ต้องใช้แผ่นฮาร์ดดิสก์กว่า 600 แผ่น และแผ่นฮาร์ดดิสก์เหล่านี้สามารถนำมาทำเครื่องต้มน้ำได้ด้วย
"มีคนบอกผมว่า ขยะมีค่าสำหรับเขา เพียงแต่อยู่ผิดที่ผิดทางเท่านั้นเอง" พันเอกสิทธิโชค ว่าไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น